วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ถุงน้ำดี

                                                   

                                       ถุงน้ำดี (Gallbladder)

 เป็นอวัยวะในช่องท้องที่ทำหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดี (bile) เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร โดยจะมีโครงสร้างที่ติดต่อกับตับซึ่งเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำดี และลำไส้เล็กตอนต้นซึ่งเป็นบริเวณที่มีการปล่อยน้ำดีออกสู่ทางเดินอาหาร







ถุงน้ำดีจะวางตัวอยู่ทางพื้นผิวด้านหน้าของตับ โดยทั่วไปจะมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร และมีสีเขียวคล้ำซึ่งเป็นสีของน้ำดีที่เก็บสะสมอยู่ภายใน ถุงน้ำดีจะมีทางติดต่อกับตับและลำไส้เล็กตอนต้นโดยระบบท่อน้ำดี (biliary tract) โดยจะมีท่อถุงน้ำดี (cystic duct) เป็นท่อที่ต่อออกมาโดยตรงจากถุงน้ำดี ซึ่งจะไปเชื่อมต่อกับท่อน้ำดีใหญ่ในตับ (common hepatic duct) เพื่อรวมเป็นท่อน้ำดีใหญ่(common bile duct) ซึ่งท่อน้ำดีใหญ่นี้จะไปเชื่อมรวมกับท่อตับอ่อน (pancreatic duct) แล้วเปิดออกสู่รูเปิดขนาดใหญ่ในลำไส้เล็กตอนต้น ซึ่งเรียกว่า เมเจอร์ ดูโอดีนัล แอมพูลา (major duodenal ampulla)

ระบบไหลเวียนเลือดของถุงน้ำดี

หลอดเลือดแดงที่นำเลือดออกซิเจนสูงมาเลี้ยงถุงน้ำดี คือหลอดเลือดแดงถุงน้ำดี (cystic artery) ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของหลอดเลือดแดงตับ ส่วนหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากถุงน้ำดีคือ หลอดเลือดดำถุงน้ำดี (cystic vein) ซึ่งจะเทเข้าสู่หลอดเลือดดำพอร์ทัลต่อไป นอกจากนี้ ทั้งหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำของถุงน้ำดีจะวางตัวขนานไปกับท่อถุงน้ำดีอีกด้วย

เส้นประสาท

ถุงน้ำดีจะถูกควบคุมโดยการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยมีเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) และปมประสาทซิลิแอค (celiac ganglion) ที่อยู่ในช่องท้อง เป็นโครงสร้างจากระบบประสาทที่มาเลี้ยง

หน้าที่การทำงาน

ถุงน้ำดีมีหน้าที่ในการเก็บสะสมน้ำดีได้ประมาณ 1.5 ออนซ์ โดยการหลั่งของน้ำดีจะถูกกระตุ้นเมื่ออาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบถูกลำเลียงเข้ามาในลำไส้เล็ก ซึ่งจะทำให้มีการหลั่งของฮอร์โมนคอลิซิสโทไคนิน (cholecystokinin) ทำให้มีการหลั่งน้ำดีออกมา นอกจากนี้ ถุงน้ำดียังมีหน้าที่ในการทำให้น้ำดีที่ผลิตจากตับมีความเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งอาศัยการดูดซึมน้ำโดยเซลล์เยื่อบุผิวของถุงน้ำดี

โรคของถุงน้ำดี

  • นิ่วในถุงน้ำดี (gallstone หรือ cholelithiasis) เป็นโรคของถุงน้ำดีที่พบได้บ่อย โดยที่นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการตกผลึกของคอเลสเตอรอล เลซิทิน และกรดน้ำดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของน้ำดี เมื่อนิ่วผ่านลงมาในท่อน้ำดีก็จะทำให้เกิดการปวดท้อง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างมื้ออาหาร ในกรณีที่ก้อนนิ่วไปอุดตันส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบท่อน้ำดี จะทำให้เกิดอาการปวดบิดรุนแรง ที่เรียกว่า ไบเลียรี่ โคลิค(biliary colic) ซึ่งต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที ผู้ป่วยที่มีนิ่วในถุงน้ำดียังมีอาการดีซ่าน และอาจเกิดความผิดปกติของตับอีกด้วย
  • ถุงน้ำดีอักเสบ (cholecystitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในถุงน้ำดีและทำให้เกิดอาการปวดท้อง โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการมีนิ่วในถุงน้ำดีจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณนั้น
  • มะเร็งถุงน้ำดี (cancer of gallbladder)ป็นโรคที่พบได้ไม่มาก แต่อันตรายถึงชีวิต โดยมักจะมีสาเหตุมาจากนิ่วในถุงน้ำดี การบริโภคแอลกอฮอล์มากๆ หรือโรคอ้วน ผู้ป่วยจะมีอาการของดีซ่าน น้ำหนักลด มีน้ำคั่งในช่องท้อง และมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากแม้ว่าจะทำการรักษาโดยการผ่าตัด

นิ่วในถุงน้ำดี




ชมรมล้างพิษพิชิตโรค

 Conquer the disease detoxification Club

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ตับอ่อน

                     
                                                               ตับอ่อน 

http://detoxificationclub.blogspot.com/

ตับอ่อน (pancreas)

- ตับอ่อนตั้งอยู่ที่ด้านบนซ้ายของช่องท้อง โดยวางตัวจากส่วนโค้งของลำไส้เล็กส่วนดูโอดีนัม (duodenum ) ถึงม้าม (spleen) และด้านหลังของกระเพาะ (stomach)
- มีลักษณะค่อนข้างแบน มีความยาวประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร
- ตับเป็นอวัยวะของสัตว์ที่มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร


หน้าที่ของตับอ่อน

- ตับอ่อนทำหน้าที่ทั้งเป็นต่อมมีท่อคือการสร้างน้ำย่อยแล้วส่งไปที่ลำไส้เล็ก 
- และเป็นต่อมไร้ท่อสร้างฮอร์โมนเซลล์ ที่ทำหน้าที่ในการผลิต ฮอร์โมน ซึ่งจะรวมกันเป็นกลุ่ม
มีชื่อเรียกว่าไอเลตส์ออฟแลงเกอร์ฮานส์ ( Islets of Langerhans ) มีปริมาณ 1 – 3 เปอร์เซ็นต์ของเนื้อเยื่อตับอ่อนทั้งหมด




ภาพแสดงตำแหน่งของตับอ่อนในร่างกาย





ฮอร์โมนที่สร้างจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์

ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ (Islet of Langerhans) เป็นกลุ่มเซลล์ที่อยู่ในตับอ่อน ค้นพบโดย พอล แลงเกอร์ฮาน (PaulLangerhans) ซึ่งสังเกตเห็นกลุ่มเซลล์กลุ่มหนึ่งกระจายอยู่ในตับอ่อนเป็นหย่อมๆ มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก ต่อมาจึงเรียกกลุ่มเซลล์เหล่านั้นเพื่อให้เกียรติแก่ผู้ค้นพบว่า ไอเลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ (islet of Langerhans) ต่อมาโยอันน์ วอน เมอริง (Johann von Mering) และออสกา มินคอฟสกิ (Oscar minkovski) แสดงให้เห็นว่าการตัดตับอ่อนออกจากร่างกายของสุนัขมีผลต่อการย่อยอาหารประเภทไขมันและทำให้ปัสสาวะของสุนัขนั้นมีมดขึ้น และต่อมาสุนัขก็ตาย
ในปี พ.ศ. 2455  ได้มีผู้ทดลองให้เห็นว่ากลุ่มเซลล์ไอส์เลตออฟแลงเกอรฮานส์ ผลิตสารบางอย่างผ่านมาทางกระแสเลือดและให้ชื่อว่า อินซูลิน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 เอฟ จี แบนติง (F.G. Banting) และซี เอช เบสต์ (C.H. Best)  ทำการทดลองมัดท่อตับอ่อนของสุนัข ผลปรากฏว่าตับอ่อนไม่สามารถสร้างเอนไซม์ได้อีก แต่ระดับน้ำตาลในเลือดยังปกติ และได้สกัดสารจากกลุ่มเซลล์ไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานออกมา  แล้วนำสารนี้ไปฉีดให้กับสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานภายหลังจากตัดตับอ่อนออกแล้วปรากฎว่าสุนัขมีชีวิตอยู่เป็นปกติและสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้  แบนติงและเบสต์จึงประสบความสำเร็จในการสกัดสารอินซูลินออกมาได้ ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติ  จากผลการศึกษานี้ทำให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมาก


ฮอร์โมนที่สร้างจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ มี 2 ชนิดคือ อินซูลินและกลูคากอน

ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) สร้างจากกลุ่มเบตาเซลล์ (beta cell / ß - cell) ซึ่งอยู่บริเวณส่วนกลางของไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮาน ทำหน้าที่รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติเมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง เร่งการสร้างไกโคเจนเพื่อเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ และเร่งการใช้กลูโคสของเซลล์ทั่วไป
คนปกติจะมีระดับน้ำตาลในเลือดประมาณ 90-100 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร เมื่อรับประทานอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตเข้าไปปริมาณน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นถึง 140 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ลูกบาศก์เซนติเมตร ในเวลาครึ่งชั่วโมงและจะลดลงมาถึงระดับปกติในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งอินซูลินจะหลั่งออกมาเมื่อน้ำตาลในเส้นเลือด ขณะที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก ต้องใช้พลังงานมาก ไกลโคเจนที่เก็บไว้ในตับและกล้ามเนื้อได้ถูกเปลี่ยนเป็นกลูโคสส่งเข้ามาในกระแสเลือดทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ระดับน้ำตาลยังไม่ต่างจากระดับปกติมากนัก
ความผิดปกติเนื่องจากอินซูลิน
- โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus) --> มีปริมาณฮอร์โมนอินซูลินน้อย ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนปกติ ซึ่งสามารถทำลายเบต้าเซลล์ได้ ทำให้ขาดอินซูลิน ร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดมาใช้ได้ แล้วจะสลายไกลโคเจนที่สะสมไว้ออกมาใช้จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจึงเกิดโรคเบาหวาน โรคนี้พบทุกเพศทุกวัย อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม อายุ ความเครียด ความอ้วน การอักเสบที่ตับอ่อนจากเชื้อไวรัสหรือยาบางชนิด เป็นต้น
อาการ
-  ปัสสาวะบ่อยและมาก เนื่องจากท่อหน่วยไตไม่สามารถดูดน้ำตาลกลับได้หมด  จึงถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะ (โมเลกุลของน้ำตาลจะดึงโมเลกุลของน้ำมาด้วย) บางครั้งปัสสาวะอาจมีมดขึ้น มีผลให้กระหายน้ำมากและบ่อยผิดปกติ 
- แผลจะหายอยาก  มีอาการคันบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และผิวหนัง  เพราะน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียอย่างดี
- น้ำหนักตัวลด   อ่อนเพลีย  เซื่องซึม   เมื่อยล่า   เนื่องจากร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากกลูโคสได้ จึงใช้ไขมันและโปรตีนแทน
-  เลือดและปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรดมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสารคีโตน (ketone body) จากการสลายไขมันและถ้าเป็นโรคเบาหวานนาน ๆ   อาจจะทำให้ตาบอดและไตจะค่อย ๆ หมดสภาพในการทำงาน
** โรคเบาหวานมี 2 แบบ คือ โรคเบาหวานที่เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลย และโรคเบาหวานที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายไม่สังเคราะห์ตัวรับอินซูลิน (หน่วยรับเฉพาะ) **
การรักษาโรคเบาหวาน --> การฉีดอินซูลินและการระมัดระวังในการรับประทานอาหารการฉีดฮอร์โมนเข้าไปจะทำให้ร่างกายสามารถดำรงสภาพปกติอยู่ได้ หรืออาการผิดปกติทุเลาลงได้   แต่มักไม่หายขาด


ฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon) สร้างจากแอลฟาเซลล์ (alpha cell / a-cell) ขนาดใหญ่และมีจำนวนน้อยกว่าเบตาเซล์ มีหน้าที่ตรงข้ามกับอินซูลิน การขาดกลูคากอนมักจะไม่มีผลต่อร่างกายมากนัก เนื่องจากร่างกายมีฮอร์โมนอีกหลายตัวที่ทำหน้าที่แทนอยู่แล้ว
** การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดจะเป็นสัญญาณยับยั้งและกระตุ้นการหลั่งอินซูลินและกลูคากอนจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์ **



คอร์สล้างพิษ
Conquer the disease detoxification Club

ตับ


                                                                         ตับ (Liver)





ตับ เป็นอวัยวะที่พบในสัตว์ชนิดต่างๆ และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึม รวมทั้งมีหน้าที่หลายประการในร่างกาย เช่นการสะสมไกลโคเจน การสังเคราะห์โปรตีนในพลาสมา การกำจัดพิษของยา และปฏิกิริยาทางชีวเคมีต่างๆมากมาย ตับยังจัดเป็นต่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยตับจะผลิตน้ำดี ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการย่อยอาหาร ในศัพท์ทางการแพทย์ คำที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับตับจะขึ้นต้นด้วยคำว่า hepato- หรือ hepatic ซึ่งมาจากคำในภาษากรีก hepar ซึ่งหมายถึงตับ

         กายวิภาคศาสตร์ ตับของผู้ใหญ่ปกติจะมีน้ำหนักราว 1.3 ถึง 3.0 กิโลกรัม และมีจะลักษณะนุ่ม มีสีชมพูอมน้ำตาล 
ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากผิวหนัง และเป็นต่อมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ตับจะวางตัวอยู่ทางด้านขวาบนของช่องท้อง และอยู่ใต้กะบังลม นอกจากนี้บางส่วนของตับยังวางอยู่บนกระเพาะอาหาร ปลายทางด้านซ้ายสุดของตับจะชี้ไปทางม้าม และบนพื้นผิวด้านหน้าของตับยังมีถุงน้ำดีวางตัวอยู่อีกด้วย
พื้นผิวของตับเกือบทั้งหมดจะถูกคลุมด้วยเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งเป็นเยื่อบุสองชั้นที่คลุมอยู่บนอวัยวะต่างๆทางด้านหน้าของช่องท้องเพื่อลดการเสียดสีระหว่างอวัยวะ นอกจากนี้จะพบว่าที่บริเวณตับ จะมีการพับของเยื่อบุช่องท้องเข้ามาภายในตับ และแบ่งตัวออกเป็นสองพูใหญ่ๆ เยื่อดังกล่าวนี้เรียกว่า ฟอลซิฟอร์ม ลิกาเมนต์ (falciform ligament) ซึ่งจะยึดตับไว้กับผนังช่องท้องทางด้านหน้า เมื่อมองจากทางด้านบนจะพบว่า ฟอลซิฟอร์ม ลิกาเมนต์นี้จะแยกตัวออกเป็นไทรแองกูลาร์ ลิกาเมนต์ ทั้งด้านซ้ายและขวา เพื่อยึดตับไว้กับกะบังลม
กลีบของตับ ในทางมหกายวิภาคศาสตร์ จะแบ่งตับออกเป็นสี่กลีบ (lobes) ตามลักษณะที่ปรากฏบนพื้นผิว โดยเมื่อมองตับจากทางด้านหน้า จะเห็นว่าตับถูกแบ่งออกเป็นกลีบซ้าย (left lobe) และกลีบขวา (right lobe) หากมองตับจากทางด้านหลัง จะพบว่ามีอีกสองกลีบ คือ กลีบคอเดต (caudate lobe) ซึ่งอยู่ทางด้านบน และกลีบควอเดรต (quadrate lobe) ซึ่งอยู่ทางด้านล่าง ซึ่งทั้งสองกลีบดังกล่าวนี้จะแบ่งแยกออกจากกันโดยร่องแนวขวาง (transverse fissure) หรือเรียกว่า พอร์ตา เฮปาติส (porta hepatis) ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นทางผ่านของหลอดเลือดและท่อน้ำดีของตับ ทั้งกลีบคอเดตและกลีบควอเดรตนี้จะถูกแบ่งออกจากกลีบซ้าย โดยแนวของลิกาเมนตุม วีโนซุม (ligamentum venosum) และลิกาเมนตุม เทเรส เฮปาติส (ligamentum teres hepatis) ซึ่งเป็นโครงสร้างของหลอดเลือดตับในระยะเอมบริโอ ส่วนทางขวาจะมีรอยบุ๋มที่มีหลอดเลือดดำอินฟีเรียร์ เวนาคาวา (inferior vena cava) พาดผ่าน และแบ่งกลีบขวาออกจากกลีบคอเดตและกลีบควอเดรต
การไหลเวียนของเลือดในตับ ตับจะได้รับเลือดที่มีออกซิเจนสูงมาทางหลอดเลือดแดงตับ (hepatic artery) นอกจากนี้ยังมีเลือดที่นำมาจากลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และตับอ่อนผ่านทางหลอดเลือดดำซุพีเรียมีเซนเทอริค (superior mesenteric vein) และเลือดจากม้ามผ่านทางหลอดเลือดดำม้าม (splenic vein) ซึ่งหลอดเลือดดำทั้งสองจะรวมกันเป็นหลอดเลือดดำพอร์ทัล (portal vein) แล้วเข้าสู่ตับเพื่อนำสารอาหารและสารเคมีอื่นๆที่ได้จากการดูดซึมจากทางเดินอาหาร และผลผลิตจากการทำลายเม็ดเลือดแดงจากม้าม เข้าสู่กระบวนการต่างๆภายในเซลล์ตับต่อไป สำหรับหลอดเลือดดำที่นำเลือดออกจากตับ คือหลอดเลือดดำตับ (hepatic vein) ซึ่งจะเทเลือดเข้าสู่หลอดเลือดดำอินฟีเรียร์ เวนาคาวา ต่อไป
ระบบน้ำดีภายในตับ น้ำดีจะถูกสร้างขึ้นจากเซลล์ตับแต่ละเซลล์และส่งออกมาจากท่อน้ำดีย่อย (bile canaliculi) ซึ่งจากนั้นท่อน้ำดีย่อยแต่ละท่อจะรวมกันเป็นท่อน้ำดีตับ (hepatic bile ducts) ซึ่งมีทั้งซ้ายและขวา แล้วจึงรวมกันเป็นท่อน้ำดีใหญ่ในตับ (common hepatic bile duct) ก่อนจะส่งไปทางท่อน้ำดีใหญ่ (common bile duct) ซึ่งน้ำดีอาจถูกปล่อยออกสู่ลำไส้เล็กตอนต้น หรือเก็บสะสมไว้ในถุงน้ำดี
สรีรวิทยาของตับ หน้าที่ต่างๆของตับจะอาศัยการทำงานของเซลล์ตับ ซึ่งมีหน้าที่หลากหลาย ดังนี้
โรคของตับ โรคที่เป็นความผิดปกติของตับมีอยู่หลายโรคด้วยกัน ซึ่งอาจเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อหรือสารพิษต่างๆ ตัวอย่างของโรคที่เกี่ยวกับตับ ได้แก่
อาการเบื้องต้นของโรคตับ คือดีซ่าน (jaundice) ซึ่งเป็นภาวะที่มีบิลิรูบินจำนวนมากในกระแสเลือด ซึ่งเป็นผลมาจากเซลล์ตับไม่สามารถแปรรูปบิริรูบินไปเป็นสารอื่นเพื่อส่งออกทางน้ำดีได้ ทั้งนี้เป็นเพราะเซลล์ตับเกิดความผิดปกติหรือตายนั่นเอง
การดูแลรักษาตับ 
  • ไม่ดื่มสุรา เบียร์ หรือของมึนเมา
  • ไม่ควรรับประทานยาพร่ำเพรื่อ เพราะสารเคมีจะทำลายตับได้
  • ระวังอย่าสูดดมพวกละอองสเปรย์ต่างๆ
  • สวมถุงมือ ใส่เสื้อแขนยาว สวมหมวกและหน้ากากทุกครั้งที่พ่นหรือผสมยาฆ่าแมลง
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • ไม่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น
  • ไม่รับประทานอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ
  • รับประทานอาหารที่สะอาดและน้ำต้มสุก มีภาชนะปิดอย่างมิดชิด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 








Flag Counter